Cover image

ที่ดินมีกี่ประเภท

7 Nov 2021

Share to:

สวัสดีครับ ในบทความนี้เรามาทําความรู้จักกับประเภทของที่ดินกันครับว่ามีกี่ชนิด และแต่ละชนิดมีรายละเอียดอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร ดังนี้ครับ

โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง)

โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) คือ หนังสือที่กรมที่ดินออกให้ตามประมวลกฎหมาย เพื่อเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ที่เป็นเจ้าของ หมายความว่าผู้ใดที่มีโฉนดนี้ไว้ในครอบครองก็ถือได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์

โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ชัดเจนที่สุด เจ้าของที่มีชื่อหลังโฉนดสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากที่ดินนั้นได้อย่างเต็มที่ มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อขาย โอน จำนอง ค้ำประกันได้

ทําให้ โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) นิยมซื้อขายมากที่สุด และมีราคาสูงที่สุด เนื่องจาก เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ชัดเจนที่สุด

ข้อควรระวัง กรณีที่มีผู้อื่นมาครอบครองปรปักษ์ 10 ปีขึ้นไป โดยเจ้าของโฉนดไม่ได้มาคัดค้าน สิทธิ์ในที่ดินของคุณจะหมดลงทันที

รายละเอียดอื่นๆ

  • ตราครุฑสีแดง
  • หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
  • มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ
  • ระบุขอบเขต/ตําแหน่งได้ถูกต้อง
  • โอน, ซื้อ, ขาย, จํานอง ได้

ที่ดิน น.ส.3 ก. (ครุฑสีเขียว)

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. ครุฑสีเขียว คือ หนังสือรับรองสิทธิ์การทําประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองว่าเจ้าของที่ดินสามารถทําประโยชน์ในที่ดินนั้นๆได้ โดยที่ดินจะมีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน และมีการกำหนดตำแหน่งที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศไว้เป็นหลักแหล่ง โดยที่นายอำเภอท้องถิ่นเป็นผู้รับรอง

น.ส.3 ก. ก็ยังไม่ใช่โฉนดที่ดิน หมายความว่ายังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นๆ แต่สามารถซื้อขาย โอน จำนองธนาคารได้

สําหรับหนังสือประเภทนี้ เมื่อมีการสอบเขตอย่างแน่นอนแล้ว เจ้าของสามารถนำหลักฐานไปขอออกโฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอรังวัดติดประกาศ 30 วัน

รายละเอียดอื่นๆ

  • ตราครุฑสีเขียว
  • เป็นสิทธิ์ครอบครองการทําประโยชน์
  • มีระวาง มีภาพถ่ายทางอากาศ
  • สามารถขอเปลี่ยนเป็น โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) ได้
  • โอน, ซื้อ, ขาย, จํานอง ได้

ข้อควรระวัง กรณีที่มีผู้อื่นมาครอบครองปรปักษ์ 1 ปีขึ้นไป โดยเจ้าของไม่ได้มาคัดค้าน สิทธิ์ของคุณจะหมดลงทันที

ที่ดิน น.ส.3 , น.ส.3 ข. (ครุฑสีดำ)

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3, น.ส.3 ข. ครุฑสีดำ คือ หนังสือรับรองสิทธิ์การทําประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองว่าเจ้าของที่ดินสามารถทําประโยชน์ในที่ดินนั้นๆได้ แต่พื้นที่จะมีลักษณะเป็นแผนที่รูปลอยๆ ไม่มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ อาจใช้การอ้างอิงวัตถุหรือต้นไม้ในบริเวณนั้นเพื่อเขียนร่างแผนที่ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน

น.ส.3 ต่างจาก น.ส.3 ข. คือ น.ส.3 นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือรับรองให้ ส่วน น.ส.3 ข. เจ้าหน้าที่ ที่ดินเป็นผู้ออกหนังสือรับรองแสดงถึงสิทธิ์การครอบครองให้ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

น.ส.3 และ น.ส.3 ข. สามารถนำไปขออกโฉนดได้ก็ต่อเมื่อ มีการสอบเขตชัดเจนแล้ว ที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ทางเจ้าหน้าที่ ที่ดินจะเข้ามาทำการรังวัด และติดประกาศ 30 วัน หากไม่มีใครมาขอคัดค้าน ก็สามารถทำเรื่องออกโฉนดได้เลย

ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ครุฑแดง/ครุฑน้ำเงิน

อกสารสิทธิ์ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ครุฑแดง/ครุฑน้ำเงิน คือ เอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดิน เป็น สิทธิในการทำเกษตรกรรม และสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เจ้าของมีสิทธิในการครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรเท่านั้น ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ออกโฉนดไม่ได้ ห้ามซื้อ-ขาย ห้ามโอนขายสิทธิ์ให้คนอื่น ที่ไม่ใช่ทายาทของเจ้าของสิทธิ และหากทายาทได้รับเป็นมรดกตกทอดไปแล้วก็ต้องใช้ประโยชน์โดยการทำเกษตรกรรมเท่านั้น

รายละเอียดอื่นๆ

  • ใช้เฉพาะงานเกษตรเท่านั้น จะใช้ทำประโยชน์อื่นไม่ได้
  • ผู้ครอบครอบทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
  • มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรได้ตามสมควร
  • สามารถคืนให้รัฐได้ หากไม่ต้องการใช้งานแล้ว
  • ให้เช่าได้ เพื่อการเกษตรเท่านั้น (ตามเงื่อนไขรัฐ)
  • ไม่สามารถจำนองได้ ยกเว้น เป็นโครงการของรัฐที่อนุญาติให้ใช้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก 4-01 เป็นประกันได้
  • เลิกงานเกษตรต้องคืนรัฐ
  • ผิดเงื่อนไขรัฐยึดคืน
  • ได้ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่
  • สามารถโอนได้ แบ่งแยกได้ มรดกตกทอดได้ ภายในครอบครัว (ตามเงื่อนไขรัฐ)
  • ห้ามซื้อ-ขาย

เนื่องจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ครุฑแดง/ครุฑน้ำเงิน มีทั้งตราครุฑสีน้ำเงิน และครุฑเป็นสีแดง ซึ่งตราครุฑแดง จะเหมือนกันกับ โฉนดที่ดิน น.ส.4 ดังนั้นเราจึงต้องสังเกตุ คือ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ครุฑแดง ข้อความที่หัวเอกสารสิทธิ์ คือ “หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดิน” ส่วน โฉนดที่ดิน น.ส.4 ครุฑแดง ข้อความที่หัวเอกสารสิทธิ์ คือ “โฉนดที่ดิน”

ที่ดิน น.ส.2 ใบจอง

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ใบจอง น.ส.2 คือ เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้ เพื่ออนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน

โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินภายใน 6 เดือนหลังจากที่ได้รับใบจอง และจะต้องทําประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (จะต้องทําประโยชน์เกิน 75% ของที่ดิน)

ที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ แต่สามารถตกทอดทางมรดกให้กับลูกหลานได้ ที่ดินประเภทนี้ผู้ได้รับสิทธิสามารถนำใบจองมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข) หรือโฉนดที่ดินได้ แต่หนังสือรับรองสิทธิ์ที่ดินที่ออกมานั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ภ.บ.ท.5 คือ แบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงการครอบครองที่ดิน ที่ดินลักษณะนี้มักเป็นที่ดินมือเปล่า ที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆทั้งสิ้น เป็นลักษณะของการอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์สืบทอดกันมาเป็นรุ่นต่อรุ่น เจ้าของที่ดินตัวจริงคือ รัฐ

โดยอาจมีการให้ใช้สิทธิอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ชั่วคราว อาจมีการขอเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่น หรือภาษีอื่นๆจากผู้อยู่อาศัยเป็นการตอบแทน

ที่ดินประเภทนี้ “ไม่สามารถ” ซื้อขายหรือโอนสิทธิกันได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายแบบชาวบ้านเขียนหนังสือซื้อขายกันขึ้นมาเอง จึงมักมีปัญหาฟ้องร้องกันบ่อยๆ ที่ดินประเภทนี้เมื่อขึ้นชั้นศาล จะไม่มีกฎหมายใดๆรองรับ ผู้ซื้อไม่สามารถใช้หลักฐานซื้อขายไปยื่นต่อศาลให้พิจารณาใดๆได้

ที่ดิน สทก. สิทธิทำกิน

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน สทก. คือ หนังสือที่ราชการออกให้เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิทำกินในพื้นที่เขตป่าไม้ โดยทางกรมป่าไม้จะเป็นผู้ออกให้ แต่หากประชาชนผู้ได้รับสิทธิไม่ทำประโยชน์ในพื้นที่ ปล่อยรกร้างติดต่อกันเกิน 2 ปี ทางกรมป่าไม้สามารถยึดคืนได้ทันที ที่ดินประเภทนี้ออกโฉนดไม่ได้ ซื้อขายหรือโอนสิทธิกันไม่ได้ ทำได้เพียงตกทอดให้ทายาททำเกษตรเท่านั้น

ที่ดิน สค.1 แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน สค.1 คือ เอกสารการแจ้งการครอบครองที่ดินของสมัยก่อน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) โดยมีระเบียบออกมาตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2497 ซึ่งในปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค.1 อีกแล้ว ในสมัยนั้นกรมที่ดินเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ครอบครองที่ดินว่างเปล่าอยู่มาแจ้งการครอบครองที่ดิน

ดังนั้น ส.ค.1 จึงไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิการครอบครองที่ดิน เพราะไม่ได้เป็นหลักฐานที่ทางราชการออกให้ เป็นเพียงการแจ้งการครอบครองที่ดินของทางราษฎรเท่านั้น

ที่ดินประเภทนี้สามารถโอนกันได้ โดยให้เจ้าของเดิมทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิการครอบครอง และส่งมอบที่ดินที่ถือครองให้กับผู้รับโอนเท่านั้น หากผู้ใดต้องการซื้อที่ดินประเภท ส.ค.1 นี้แนะนำให้ทำหนังสือการโอนสิทธ์ให้ชัดเจนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันเจ้าของเดิมมาเรียกร้องทวงสิทธิ์คืน เพราะปัจจุบันทางกรมที่ดินได้เปิดโอกาสให้ผู้มีใบ ส.ค.1 สามารถยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิในการออกโฉนดที่ดิน หรือขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) ได้

ที่ดิน น.ส.5 ใบไต่สวน

ใบไต่สวน (น.ส.5) คือ หนังสือที่แสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ แต่สามารถจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน และโอนให้กันได้ถ้าที่ดินมีใบไต่สวนและมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ เป็นการจดทะเบียนโอนมรดก

ที่ดิน น.ค.3 หนังสือแสดงการทำประโยชน์

หนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) คือ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ที่ออกให้โดยกรมประชาสงเคราะห์ เป็นการจัดที่ดินในรูปนิคมสหกรณ์ โดยจะออกให้เฉพาะนิคมเท่านั้นเพื่อการครองชีพ ซึ่งจะได้กรรมสิทธิในการถือครอง ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ โดยหลังจากครอบครองแล้วอย่างน้อย 5 ปี มีสิทธินำหลักฐานไปยื่นขออก เอกสารสิทธิ์ น.ส.3 หรือโฉนดที่ดิน ซึ่งถายใน 5 ปี ที่ครอบครองจะไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้ ยกเว้นตกทอดทางมรดก

ที่ดินของวัด (ที่วัด หรือ ที่ดินวัด)

ที่ดินของวัด นั้น ได้ถูกจำแนกตามพระราชบัญญัติ 3 ประเภท ได้แก่

  • ที่วัด คือ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของวัด หรือขอบเขตในบริเวณวัดทั้งหมด
  • ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ดินที่เป็นสมบัติของวัด อาจอยู่ใกล้ๆเขตวัด หรืออยู่ห่างไกลก็ได้ วัดหนึ่งวัดแม้มีที่ตั้งเพียงที่เดียว ก็สามารถมีที่ธรณีสงฆ์ได้มากมาย
  • ที่กัลปนา คือ ที่ที่เจ้าของมอบให้กับวัด เพื่อใช้ประโยชน์ เก็บกินค่าเช่า หรือใช้ในกิจของศาสนา กรรมสิทธิ์ที่ประเภทนี้จะยังคงเป็นของเจ้าของเดิมอยู่ แต่หากเจ้าของเดินยกที่ตรงนี้ให้วัดแล้ว ที่กัลปนาจะถูกเปลี่ยนเป็นที่ธรณีสงฆ์ทันที

ที่ดินราชพัสดุ

ที่ดินราชพัสดุ คือ อสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดที่เป็นของแผ่นดิน เว้นแต่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น ตึก รามบ้านช่อง เทือกสวนไร่นา ที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่มีการเวนคืนกลับมาเป็นของแผ่นดิน แม้กระทั่งที่ดินที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ เป็นต้น ก็ล้วนจัดว่าเป็นที่ราชพัสดุทั้งสิ้น (ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4)

กล่าวง่ายๆ ที่ราชพัสดุ ก็คือที่หลวงนั่นเอง โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลปกครอง ดังนั้นที่ดินประเภทที่ราชพัสดุนี้ จึงมีมากมายในประเทศของเรา วิธีสังเกตง่ายๆว่าที่ดินผืนไหนเป็นที่ราชพัสดุ คือ ตัวอาคารหรือตึกจะมีสัญลักษณ์ตรารูปนกวายุภักษ์ติดอยู่

ที่มาของข้อมูล

https://www.madamhome.in.th/ประเภทของที่ดิน/

Suggestion blogs

Docker Swarm คืออะไร

Docker swarm เป็น Native Clustering ของ Docker คือเป็นเครื่องมือช่วยจัดการเครื่อง server ที่รัน Docker หลายๆเครื่องให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน พูดง่ายๆก็คือ การนําเอาเครื่อง server หลายๆเครื่อง (Worker) มาช่วยกันทํางาน โดยจะถูกควบคุมการทํางานโดย Manager และยังมีระบบ IPVS ที่เป็น Load-balance ซึ่งจะทําให้เราสามารถเข้าถึง Website หรือ Application ต่างๆ ที่เรารันอยู่ได้จากเครื่องไหนก็ได้ใน Swarm โดย IPVS จะช่วยจัดการให้เราเองโดยอัตโนมัติ ศัพท์ที่เกี่ยวกับ Docker swarm ที่ควรรู้มีดังนี้

การสร้าง archive และการบีบอัดข้อมูล linux

การสร้าง archiveการสร้าง archive คือการรวมไฟล์ทุกไฟล์ในไดเรกทอรีให้เป็นไฟล์เดียว สามารถทำได้โดยใช้คำสั่ง

ESP8266 ควบคุม i/o ผ่าน web (Access point)

ในบทความนี้ผมจะอธิบายถึงวิธีการทําให้ ESP8266 เป็น Access point ให้อุปกรณ์อุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อ wifi ได้ เช่น computer, smart phone ฯลฯ มาเชื่อมต่อกับ SEP8266 แล้วควบคุม i/o ปิด/เปิด LED ผ่านเว็บ ด้วยวิธีส่งข้อมูลผ่าน HTTP_GET เช่น


Copyright © 2019 - 2025 thiti.dev |  v1.45.0 |  Privacy policy | 

Build with ❤️ and Astro.

Github profile   Linkedin profile   Instagram   X profile   Nostr   Youtube channel   Telegram   Email contact   วงแหวนเว็บ